ถังหูลู่ หรือ ถังหูหลู
ถังหูลู่ ผลไม้เคลือบน้ำตาล จากกระแส Influencer และ ผู้ใช้งานในแอพพลิเคชั่น Tiktok จำนวนมากได้รีวิวรสชาติ รวมถึงวิธีทำถังหูลู่ จนเป็นที่รู้จัก ทำให้มีคนนิยมทำตาม รวมถึงเอาไปทำผลไม้เคลือบน้ำตาลขายเพื่อสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังช่วงโควิด ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวชาวจีนหลั่งไหล กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับใครก็ตามที่คิดทำขนมชนิดนี้เพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวสร้างรายได้ในช่วงนี้
เป็นขนมขบเคี้ยวหรือของหวานแบบจีนมีความหมายว่า น้ำเต้าเคลือบน้ำตาล เพราะแต่เดิมใช้ผลซานจา (พุทราป่า) 2 ลูก เสียบไม้ไผ่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็นแท่งเหมือนลูกชิ้น โดยผลใหญ่อยู่ด้านล่างและผลเล็กจะอยู่ด้านบนจึงมีรูปร่างที่คล้ายกับผลน้ำเต้า แล้วจุ่มลงในน้ำเชื่อมให้ผิวนอกแข็งตัวเป็นเงาวาว รสชาติเปรี้ยวอมหวาน คำว่า ‘หูลู่’หรือน้ำเต้ายังพ้องเสียงกับชื่อของเทพ ฮก ลก ซิ่ว ซึ่งมีความหมายที่เป็นมงคลอีกด้วย ชาวจีนเชื่อว่า ถังหูลู่จะนำความโชคดี มั่งคั่ง นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนเลยก็ว่าได้ อาหารจีน
วิธีทำถังหูลู่ ทำได้ง่ายมาก ๆ สามารถประยุกต์ใช้ได้ ทั้งเป็นของหวานไว้กินยามว่าง หรือ ทำขายเพื่อสร้างรายได้ รับรองว่า ทำตามได้ง่าย ๆ ไม่ยากแน่นอน
อุปกรณ์และวัสดุ
- ผลไม้สดขนาดพอดีคำ เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี องุ่น กีวี
- น้ำตาลทรายขาว 2 ถ้วยตวง
- น้ำเปล่า 1/2 ถ้วยตวง
- ไม้ไผ่สำหรับเสียบผลไม้
วิธีทำ
- ล้างผลไม้ให้สะอาดในน้ำเปล่า โดยเด็ดก้านและใบออกให้หมด จากนั้นนำมาซับให้แห้งแล้ววางเตรียมไว้
- นำผลไม้ที่เตรียมไว้มาเสียบใส่ไม้ไผ่ โดยใช้ผลไม้ประมาณ 4-5 ชิ้นต่อไม้เสียบ เสียบลูกเล็ก ลูกใหญ่ สลับกันไป หรือ เสียบอย่างไรก็ได้ ให้สวยงาม
- นำน้ำและน้ำตาลใส่ในหม้อขนาดกลาง ตั้งไฟแรง จากนั้นให้คนตลอดเวลาจนน้ำตาลละลายหมด
- เปิดไฟอ่อน ต้มให้น้ำเดือด ให้น้ำเชื่อมมีความข้นเหนียว สำหรับเคลือบผลไม้ ถ้าฟองเริ่มปุดช้าลง และ เริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้ว ให้เช็ก โดยตักน้ำเชื่อมใส่น้ำเย็นจัด ถ้าหยดลงไปแล้ว น้ำตาลจับตัวเป็นก้อน มีความแข็งกรอบ คือใช้ได้แล้ว
- พอน้ำเชื่อมได้ที่แล้ว ให้ใช้ช้อนตักน้ำเชื่อม ราดผลไม้ให้ทั่ว แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็นจัด ให้น้ำเชื่อมเซ็ตตัว เป็นอันเสร็จ
เคล็ดลับทำถังหูลู่ให้เงาสวย ไม่ตกผลึก ควรต้มน้ำเชื่อมให้ได้ที่เสียก่อน มีความข้นเหนียว ใส เซ็ตตัวได้ดี โดยวิธีเช็ค ถ้าฟองเริ่มปุดช้าลง และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้ว ให้ตักน้ำเชื่อมหยดใส่น้ำเย็นจัด ถ้าหยดลงไปแล้ว น้ำตาลจับตัวเป็นก้อน มีความแข็งกรอบ คือใช้ได้แล้ว
ถ้าต้มน้ำเชื่อมยังไม่ได้ที่แล้ว แล้วตักราดลงไปทันที จะทำให้น้ำตาลมีความเหนียวยืด ไม่กรอบอร่อย หรือ ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป น้ำเชื่อมจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและเกิดการตกผลึกทำให้ถังหูลู่ขุ่น ไม่สวยงามได้